วันอาทิตย์ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ก้อนซีสต์ของทางเดินต่อมทัยรอยด์ Thyroglossal duct cyst

ก้อนซีสต์ของทางเดินต่อมทัยรอยด์ Thyroglossal duct cyst

       พบเป็นก้อนกลางคอ เป็นซีสต์ของทางเดินต่อมทัยรอยด์ ก้อนมักอยู่ใต้กระดูกฮัยออยด์ใต้ลูกกระเดือก อาจอยู่ในเนื้อต่อมทัยรอยด์ก้อนเคลื่อนขึ้นลงตามการกลืนและการแลบลิ้น

      อาการ  ก้อนกลางคอโตขึ้นอาจไม่มี อาจติดเชื้อเป็นหนองแตกมีน้ำลายไหลจากรู ต้องแยกโรคจากต่อมน้ำเหลืองใต้คาง ก้อนเดอร์มอยด์ ก้อนเนื้อต่อมทัยรอยด์ ถ้าคลำต่อมทัยรอยด์ ไม่ได้ หรือสงสัย ต้องส่งตรวจเอกซเรย์หาตำแหน่งต่อมทัยรอยด์ก่อนผ่าตัด

      สาเหตุ  เกิดจากทางเดินของต่อมทัยรอยด์จากโคนลิ้นซึ่งเคลื่อนมาอยู่ด้านหน้าของคอไม่ปิด ตัวอ่อนอายุ 3 อาทิตย์เนื้อเยื่อต่อมทัยรอยด์อยู่โคนลิ้น คอของตัวอ่อนยืดยาว เนื้อทัยรอยด์ เลื่อนมาอยู่ด้านหน้าแนวกลางคอ รอยเคลื่อนของต่อมทัยรอยด์ติดกับกระดูกฮัยออยด์ ถ้าช่องทางเคลื่อนที่ของต่อมทัยรอยด์ไม่ปิด น้ำลายไหลลงสะสมเกิดเป็นก้อนซีสต์กลางลำคอ ก้อนจะค่อยๆโตขึ้นเมื่อเด็กอายุ 2- 4 ปี

      การรักษา  ต้องตัดก้อน เลาะท่อที่ผ่านกลางของกระดูกฮัยออยด์ และตัดกระดูกฮัยออยด์ตรงกลางออกด้วย เลาะท่อขึ้นไปถึงโคนลิ้นผูกท่อชิดโคนลิ้น เรียกวิธีซีสต์ทรั้งค์ (Sistrunk's operation) 

                       
      ภาพ 1 เด็กอายู 6 ปี เป็นก้อนขนาดใหญ่ 3.5 ซ.ม.กลางคอ ผ่าตัด เลาะก้อนซีสต์ออกมีท่อผ่านกลางกระดูก ตัดออกถึงโคนลิ้น หายขาด 

       ภาวะแทรกซ้อน  ติดเชื้อบวมเป็นหนอง ต้องผ่าตัดระบายหนอง ให้ยาแก้อักเสบ เมื่อหายอักเสบจึงผ่าตัดตามวิธีเดิม 

                       
                     ภาพ 1                                   ภาพ 2 

                       
       ภาพ 3 (ท่อติดกระดูกฮัยออยด์)                     ภาพ 4               

      เด็กชายอายุ 8 ปี เป็นก้อนกลางลำคอ ผ่าตัดสองครั้งจากโรงพยาบาลแห่งหนึ่งไม่หาย หลังผ่าตัดมีแผลน้ำลายไหลออกจากรูตลอดเวลา (ภาพ 1) ให้ยาปฏิชีวนะรอผ่าตัดพอแผลปิดก็กลายเป็นก้อนบวมเพราะน้ำลายก็ไหลสะสม (ภาพ 2) ได้รับการผ่าตัดครั้งที่สามที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ฉีดสีเมททีลีนบลู เลาะตัดก้อนรวมตัดกระดูกฮัยออยด์ออกพบท่อเนื้อเยื่อต่อถึงโคนลิ้นจึงตัดออก (ภาพ 3 ) เย็บปิดรู ใส่ท่อระบาย 5วัน (ภาพ 4) ไม่มีของเหลวไหลออก ตึงท่อระบายออกแผลหายไม่เป็นซ้ำ

      อาจมีเนื้อทัยรอยด์ ในซีสต์ถ้าปล่อยทิ้งไว้โตขึ้นเป็นผู้ใหญ่อาจกลายเป็นมะเร็ง ควรสงสัยมะเร็งถ้าก้อนโตเร็ว

      สาเหตุที่ผ่าตัดไม่หายขาดเพราะก้อนติดเชื้อมากกว่าสองครั้งก่อนผ่าตัด
หรือผ่าตัดไม่ถูกวิธี 

      นายแพทย์สุเมธ ธีรรัตน์กุล
      รองศาสตราจารย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารศัลยศาสตร์
      หน่วยกุมารศัลยศาสตร์
      ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี

      sumat.tee@mahidol.ac.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น