วันอาทิตย์ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

น้องปิ่น น้องปาน ทารกแฝดตัวติดกัน

ทารกแฝดตัวติดกัน 

น้องปิ่น น้องปาน ทารกแฝดตัวติดกัน

สาเหตุ เกิดจากไข่ใบเดียวผสมกับเชื้ออสุจิหนึ่งตัว ตัวอ่อนเริ่มแบ่งตัววันที่ 13 หลังไข่ถูกผสมแต่แบ่งแยกไม่เด็ดขาด ทำให้เกิดเป็นแฝดเหมือนตัวติดกัน มักติดกันที่ช่องท้อง ทรวงอก อาจติดกันที่หัว หลัง ด้านข้าง หรือก้น 

อุบัติการณ์ พบทารกแรกคลอดแฝดตัวติดกัน 1 ใน 40,000-70,000 ราย
40% ของทารกแฝดตัวติดกันคลอดออกมาเสียชีวิต
75% ตายคลอดหรือมีชีวิตอยู่ได้ไม่เกิน 24 ชั่วโมง

      พบทารกแรกคลอดแฝดตัวติดกันมีชีวิตเพียง 1 ใน 200,000 รายของทารกคลอดปกติ ทารกแฝดตัวติดกันส่วนมากเสียชีวิตก่อนคลอดหรือภายใน 24 ชั่วโมงหลังคลอด เพราะมีความผิดปกติอวัยวะภายในร่วม

น้องปิ่น-น้องปาน
      เป็นทารกแฝดตัวติดกันส่วนล่างของทรวงอกลงมาถึงหน้าท้อง ส่วนบนของลำตัวแยกกัน มีหัวใจและปอดแยกกัน มีแขนคนละสองข้าง ส่วนล่างหน้าท้องติดกัน กระดูกสันหลังแยกกัน แต่มีกระดูกเชิงกรานอันเดียวเหมือนคนๆเดียวมีสองขา ไม่มีรูทวาร อวัยวะเพศหญิงภายนอกคล้ายแยกกันแต่ภายในมีช่องคลอดอันเดียว ปลายลำไส้ใหญ่เปิดที่ช่องคลอด มีหูรูดสำหรับกลั้นอุจจาระเพียงชิ้นเดียวเล็กกว่าเด็กปกติ ปลายลำไส้ใหญ่อยู่เหนือหูรูด อวัยวะภายใน มีตับอันเดียว กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก และลำไส้ใหญ่ สองชุด ลำไส้ใหญ่ส่วนปลายมีชุดเดียว มีไตสองข้าง กระเพาะปัสสาวะอันเดียว
      เพราะประสิทธิภาพที่สูงมากของทีมสูตินรีแพทย์, กุมารแพทย์ทารกแรกคลอด และกุมารศัลยแพทย์ ของโรงพยาบาลนครสวรรค์จึงทำคลอดน้องปิ่น ปาน และ ดูแลรักษาทารกทั้งคู่ได้อย่างปลอดภัย แม้ระยะแรกเด็กมีปอดอักเสบ ก่อนส่งตัวมารักษาที่หน่วยกุมารศัลยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
      ทางโรงพยาบาลรามาธิบดีหน่วยกุมารศัลยศาสตร์ได้รับผู้ป่วยไว้รักษาร่วมกับกุมารแพทย์ทารกแรกคลอด ระยะแรกเด็กมีปอดอักเสบ ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ ภาวะปอดอักเสบได้รับการรักษาจนหายดี โดยกุมารแพทยโรคปอดและทารกแรกคลอด ระหว่างนั้นได้ทำการตรวจวินิจฉัยเด็กอย่างละเอียด เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน เอกซเรย์ลำไส้

การรักษาผู้ป่วย
      ทางคณะแพทย์ผู้รักษา รองศาสตราจารย์นายแพทย์ สุเมธ ธีรรัตน์กุล ผู้ดูแลรักษาน้องปิ่นและน้องปาน ได้อธิบายแนวทางการรักษาต่อบิดา มารดา และญาติ อย่างละเอียดตามแนวทางการรักษาดังนี้
ไม่ควรผ่าตัดแยกเด็กทั้งสองเพราะเด็กมีส่วนล่างของร่างกายเป็นคนๆเดียวกัน
เด็กมีกระดูกเชิงกรานอันเดียว
      หากผ่าตัดแยก ผลที่ได้คือ ได้เด็กสองคน มีกระดูกเชิงกรานคนละครึ่ง เด็กแต่ละคนมีขาหนึ่งละข้าง เด็กคนใดคนหนึ่งจะได้รับการผ่าตัดสร้างรูทวารและกลั้นอุจจาระได้ ส่วนอีกคนหนึ่งต้องมีลำไส้เปิดหน้าท้องเพื่อขับถ่ายอุจจาระ เด็กทั้งสองจะได้รับไตคนละข้าง คนหนึ่งได้กระเพาะปัสสาวะ อีกคนหนึ่งไม่มีกระเพาะปัสสาวะต้องผ่าตัดยกท่อไตเปิดออกที่หน้าท้องเพื่อขับปัสสาวะ หรือต้องต่อท่อไตเข้ากับลำไส้เล็กทำเป็นกระเพาะปัสสาวะเทียมไม่สามารถกลั้นปัสสาวะเองได้ แพทย์สามารถแบ่งแยกตับให้เด็กคนละครึ่งได้ไม่ยาก ผลการผ่าตัดแยกกระดูกเชิงกรานและขาอาจทำให้เด็กใช้ขาไม่ได้เพราะอาจทำให้เส้นประสาทที่ควบคุมการทำงานของขาทั้งสองได้รับบาดเจ็บ
      กล่าวโดยสรุปเด็กแฝดลักษณะน้องปิ่น น้องปานนี้เป็นข้อห้ามการผ่าตัดแยก ยกเว้นเด็กคนใดคนหนึ่งกำลังจะเสียชีวิต จึงมีความจำเป็นต้องผ่าตัดเพื่อรักษาชีวิตเด็กอีกคนหนึ่ง แพทย์ไม่มีสิทธิ์ตัดเด็กคนใดคนหนึ่งทิ้งขณะที่ทั้งสองคนเป็นปกติ อาจเรียกได้ว่าเด็กทั้งสองมีร่างกายเดียวแต่มีสองวิญญาณ

การรักษา
      รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ สุเมธ ธีรรัตน์กุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารศัลยศาสตร์และคณะได้ทำการรักษาให้น้องปิ่นและน้องปาน คือ
  1. ผ่าตัดส่องกล้องเข้าช่องท้องตรวจอวัยวะภายใน และยกลำไส้เปิดหน้าท้องเพื่อขับถ่ายอุจจาระเมื่อเด็กอายุสองวัน
  2. ผ่าตัดแยกปลายลำไส้ใหญ่ออกจากช่องคลอด และสร้างรูทวารให้เด็ก รูทวารอยู่ในช่องกล้ามเนื้อหูรูดควบคุมการถ่ายอุจจาระ ผ่าตัดเมื่อเด็กอายุประมาณ 8 เดือน เด็กทั้งสองใช้รูทวารอันเดียวกันเพราะปลายลำไส้ใหญ่มีอันเดียวและมีหูรูดกลั้นอุจจาระชุดเดียวซึ่งไม่สมบูรณ์นักเพราะมีขนาดเล็ก

ผลการรักษา
      แพทย์สามารถผ่าตัดสร้างรูทวารสำเร็จ แม้เด็กมีกล้ามเนื้อหูรูดขนาดเล็ก โดยทั่วไปภายหลังผ่าตัดสร้างรูทวารสำเร็จ 3-4 อาทิตย์ เด็กจะต้องได้รับการขยายรูทวารที่ผ่าตัดวันละครั้ง เด็กควรได้รับการขยายรูทวาร 3 เดือนจนขนาดรูทวารขนาดเหมาะสมและแผลเป็นที่รูทวารนิ่ม
      เหตุผลที่แพทยต้องขยายรูทวารเด็กเพราะรูทวารที่ผ่าตัดสร้างขึ้นถูกสร้างขึ้นขนาดเท่ากับรูหูรูดกล้ามเนื้อ รูทวารที่ถูกสร้างขึ้นจะหดตัวเล็กลงตามธรรมชาติหลังผ่าตัด แพทย์มักรอให้แผลที่รูทวารหายดี 3-4 อาทิตย์ จึงเริ่มขยายรูทวาร

วิธีขยายรูทวาร
      แพทย์ได้จัดเหลาเทียนขนาดที่เหมาะสมให้ผู้ป่วยขยายรูทวารน้องปิ่นและน้องปาน โดยจัดเตรียเมเจลชาสำหรับหล่อลื่นใช้ทาเทียนและรูทวารก่อนแยงเทียนเข้ารูทวารเพื่อลดอาการเจ็บ ได้แนะนำให้ญาติแยงรูทวารลึกประมาณ 1 -1.5 นิ้ว แล้วชักออกทันทีไม่ต้องคาไว้
      แพทย์ได้อธิบายขั้นตอนการรักษาให้แก่ญาติ บิดาและมารดาอย่างละเอียด แพทย์ได้นัดเด็กมาตรวจรักษาเป็นระยะ เพื่อประเมินขนาดรูทวาร โดยทั่วไปเด็กควรได้รับการขยายรูทวารวันละครั้ง 3 เดือน เมื่อรูทวารมีขนาดเหมาะสมและแผลเป็นนิ่มจึงสามารถผ่าตัดปิดลำไส้ที่หน้าท้อ ให้เด็กชับถ่ายอุจจาระทางรูทวารตามปกติเหมือนเด็กทั่วไป แพทย์สังเกตุว่าเกือบทุกครั้งญาติเป็นผู้พาน้องปิ่น น้องปานมาพบแพทย์ อาจเป็นเพราะบิดามารดาไม่มีเวลาจึงไม่ค่อยมาพบแพทย์ด้วนตนเองทำให้ไม่เข้าใจถึงความจำเป็นและวิธีขยายรูทวาร
      ขณะนี้เด็กได้รับการรักษาไม่ต้องเสียเงินค่ารักษา เด็กควรได้รับการเลี้ยงดูเสมือนเด็กพิการ อาหารทานเหมือนเด็กปกติ
      ควรได้รับการทำกายภาพบำบัด สร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อส่วนล่างของลำตัว สอนเด็กให้เคลื่อนตัวอย่างเหมาะสม จัดท่าเด็กป้องกันการแอ่นตัวของลำตัวส่วนบน เด็กต้องได้รับการดูแลรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกสันหลังโดยเฉพาะ เด็กได้รับการส่งตัวไปรักษาที่หน่วยกายภาพบำบัดและศัลยกรรมกระดูกสันหลังของคณะแพทย์ศาสตร์รามาธิบดีด้วยเช่นกัน

ร.ศ.น.พ. สุเมธ ธีรรัตน์กุล
วุฒิบัตรผู้เชี่ยวชาญกุมารศัลยสาสตร์
หน่วยกุมารศัลยศาสตร์
ภาควิชาศัลยศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ ร.พ. รามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล
โทร 081-6133834


" Raffensperger, J. (1997) A philosophical approach to conjoined twins. Pediatric Surgery Int, 12(4), 249-255 (Apr)
ภาพเด็กต่างประเทศผิดปกติแบบน้องปิ่น น้องปานไม่ผ่าตัดแยก ( ระวังอาจละเมิดสิทธิ์ถ้าตีพิมพ์ภาพ) 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น